ข้อบังคับสมาคมฯ

ข้อบังคับ
สมาคมผู้ปกครองและครู
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หมวดที่ ๑
ข้อความทั่วไป
ชื่อสมาคม

ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ชื่อย่อ “ป.ค. สก.” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Parent-Teacher Association of Kasetsart University Laboratory School” ชื่อย่อภาษาอังกฤษ “PTAK”

เครื่องหมายของสมาคม

ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคมนี้ เป็นรูปมือ ๒ มือ ประคองต้นไม้อ่อน มือข้างหนึ่งหมายถึงครู อีกข้างหนึ่ง หมายถึง ผู้ปกครอง ต้นไม้อ่อนหมายถึงเด็กนักเรียน ใบไม้ ๔ ใบ หมายถึง หลักสี่ประการ คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา เบ้าดิน หมายถึง การให้การศึกษาอบรม

วัตถุประสงค์ของสมาคม

ข้อ ๓. สมาคมมีวัตถุประสงค์ ต่อไปนี้
๓.๑ เพื่อให้สมาชิกร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในการให้การศึกษา และอบรมนักเรียนเพื่อให้มีพัฒนาการทุกด้านและเป็นพลเมืองดีของชาติ
๓.๒ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่สมาชิก
๓.๓ เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างสมาชิก
๓.๔ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ในอันที่จะส่งเสริมการศึกษา สันทนาการ และสวัสดิการของนักเรียนและสมาชิก
๓.๕ เพื่อดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และนโยบายของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อ ๔. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

หมวดที่ ๒
สมาชิก

ข้อ ๕. สมาคมนี้มีสมาชิก ๒ ประเภท คือ
๕.๑. สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนสาธิตฯ และผู้ที่เป็นครูอาจารย์ของโรงเรียนสาธิตฯ
๕.๒. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีอุปการะคุณต่อสมาคม ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมเห็นชอบ เชิญเข้าเป็นสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการบริหารที่มาประชุม

ข้อ ๖. ผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
๖.๑. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
๖.๒. มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม
๖.๓. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง อันเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม
๖.๔. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
๖.๕. ไม่เป็นผู้ที่ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

ข้อ ๗. ค่าจดทะเบียนและค่าบำรุง
๗.๑. สมาชิกสามัญยกเว้นผู้ที่เป็นครูอาจารย์ของโรงเรียนสาธิตฯ ต้องเสียค่าจดทะเบียนและค่าบำรุง ดังนี้
๗.๑.๑. ค่าจดทะเบียนคนละ ๕๐ บาท
๗.๑.๒. สมาชิกเสียค่าบำรุงตลอดชีพครั้งเดียวเป็นเงิน ๕๐๐ บาท
๗.๒. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าจดทะเบียนและค่าบำรุง

การสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ ๘. ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการสมาคม
โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๒ คน

ข้อ ๙. ให้เลขานุการสมาคมนำชื่อผู้สมัครประกาศไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เลขานุการสมาคมรวบรวมรายชื่อเสนอคณะกรรมการอนุมัติ แล้วแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการยอมรับเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๐. ถ้าสมาชิกผู้ใดจะคัดค้าน ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขานุการสมาคมภายในกำหนดระยะเวลาตามข้อ ๙ พร้อมด้วยหลักฐานรายละเอียดและเหตุผลที่คัดค้าน

ข้อ ๑๑. ให้เลขานุการสมาคมนำเรื่องที่คัดค้านเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณา การวินิจฉัยของคณะกรรมการที่จะรับผู้สมัครเป็นสมาชิกหรือไม่ ถือเป็นเด็ดขาด

ข้อ ๑๒. ถ้ามีการไม่ยอมรับเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผู้สมัครนั้นจะยื่นคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกไม่ได้ ภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่เลขานุการสมาคมแจ้งให้ทราบถึงการไม่ยอมรับนั้น และถ้ามีการไม่ยอมรับผู้ใดเป็นสมาชิกถึง ๓ ครั้งแล้ว ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะขอเป็นสมาชิกอีกต่อไป

ข้อ ๑๓. เมื่อมีการรับผู้ใดเป็นสมาชิกแล้ว ผู้นั้นจะต้องชำระค่าจดทะเบียนเป็นสมาชิกและค่าบำรุงภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่เลขานุการสมาคมแจ้งให้ทราบถึงการยอมรับเป็นสมาชิกและให้ถือว่าสมาชิกภาพเริ่มแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินดังกล่าว ถ้ามิได้ชำระเงินภายในกำหนด ให้ถือว่าการขอสมัครและการยอมรับผู้นั้นเข้าเป็นสมาชิกเป็นอันระงับไป

หมวดที่ ๓
สิทธิและหน้าที่สมาชิก

ข้อ ๑๔. สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมได้

ข้อ ๑๕. สมาชิกมีสิทธิได้รับประโยชน์ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

ข้อ ๑๖. สมาชิกมีสิทธิที่จะเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารเกี่ยวกับกิจการของสมาคม

ข้อ ๑๗. สมาชิกสามัญจำนวน ๕๐ คนขึ้นไป มีสิทธิจะร่วมกันร้องขอให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเรียกประชุมวิสามัญ

ข้อ ๑๘. สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่และสมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคนละ ๑ คะแนน และมีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของสมาคมได้

การขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ ๑๙. สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ
๑๙.๑. ตาย
๑๙.๒. ลาออก และให้หมายรวมถึงการออกจากการเป็นครูอาจารย์ ของโรงเรียนสาธิตฯด้วย
๑๙.๓. ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๖
๑๙.๔. ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนตามข้อ ๒๑

ข้อ ๒๐. สมาชิกที่ประสงค์จะลาออก ให้ยื่นหนังสือลาออกต่อเลขานุการสมาคม ทั้งนี้ต้องชดใช้เงินค่าบำรุงและหนี้สินอื่น ๆ ที่ค้างชำระอยู่ในขณะนั้นให้เสร็จสิ้นก่อน

ข้อ ๒๑. สมาชิกซึ่งมีความประพฤติเป็นที่เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงอันดีงามของสมาคมและที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารได้มีมติให้ถอดชื่อออกจากทะเบียน ทั้งนี้โดยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนกรรมการบริหารที่เข้าประชุม ให้นายทะเบียนของสมาคมจำหน่ายชื่อสมาชิกผู้นั้น ออกจากทะเบียนและให้เลขานุการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบ

ข้อ ๒๒. เมื่อมีผู้ขาดจากสมาชิกภาพ ให้นายทะเบียนจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนเป็นคราว ๆ และประกาศให้สมาชิกทราบ ณ สำนักงานของสมาคม

หมวดที่ ๔
คณะกรรมการของสมาคมและอำนาจหน้าที่

ข้อ ๒๓. ให้มีคณะกรรมการบริหารของสมาคมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญที่เป็นผู้ปกครองนักเรียน ๑๕ คน และสมาชิกสามัญที่เป็นครูอาจารย์ของโรงเรียนสาธิตฯ ๙ คน ที่ทางโรงเรียนมอบหมายและอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนี้เป็นอุปนายกโดยตำแหน่งอีก ๑ คน รวมเป็น ๒๕ คน

ข้อ ๒๔. คณะกรรมการบริหารสมาคม ได้แก่
๑. นายก
๒. อุปนายก
๓. เลขานุการ
๔. นายทะเบียน
๕. เหรัญญิก
๖. ปฏิคม
๗. กรรมการการศึกษา
๘. กรรมการประชาสัมพันธ์
๙. กรรมการสวัสดิการ
๑๐. กรรมการจัดหารายได้
๑๑. กรรมการฝ่ายโรงเรียน
๑๒. กรรมการกลาง

ข้อ ๒๕. ให้คณะกรรมการบริหารสมาคม อยู่ในตำแหน่งวาระละ ๒ ปี และให้ทำการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่สามัญของสมาคม ให้คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งทำการเลือกนายกและอุปนายกโดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบ และควบคุมงานบริหารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมและให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๒๕.๑. นายก มีหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมรับผิดชอบการบริหารงาน และการดำเนินงานของสมาคม
๒๕.๒. อุปนายก มีหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมการการบริหารสมาคม อุปนายกฝ่ายผู้ปกครอง และอาจารย์ใหญ่ทำหน้าที่อุปนายกฝ่ายโรงเรียนอีก ๑ ตำแหน่ง
๒๕.๓. เลขานุการ มีหน้าที่รับผิดชอบงานให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของนายก เตรียมระเบียบวาระการประชุม ร่างจดหมายติดต่อ เก็บประวัติและหลักฐานการดำเนินงานของสมาคมและให้มีหน้าที่รับผิดชอบ ปฏิบัติงาน ซึ่งยังมิได้จัดให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ
๒๕.๔. นายทะเบียน มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับและจำหน่ายสมาชิกของสมาคม จัดและเก็บทะเบียนประวัติของสมาชิก และปรับปรุงติดตามให้ถูกต้องเสมอ จัดพิมพ์ทะเบียนดังกล่าวแจกจ่ายให้กรรมการทุกคนเพื่อสะดวกต่อการติดต่องาน
๒๕.๕ เหรัญญิก มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและทรัพย์สินของสมาคม
๒๕.๖. ปฏิคม มีหน้าที่รับผิดชอบในการต้อนรับแขก ควบคุมดูแลจัดสถานที่ และอำนวยการจัดงานของสมาคม
๒๕.๗. กรรมการการศึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจของสมาชิก ตลอดจนรวบรวมปัญหาหรือข้อเสนอแนะของสมาชิก เกี่ยวกับการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการ
๒๕.๘. กรรมการประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่กิจการและข่าวสารของสมาคม
๒๕.๙. กรรมการสวัสดิการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลและช่วยเหลือส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก
๒๕.๑๐. กรรมการจัดหารายได้ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหารายได้เพื่อประโยชน์ในกิจการของสมาคม
๒๕.๑๑. กรรมการฝ่ายโรงเรียน คือ อาจารย์ใหญ่โดยตำแหน่งหรือผู้ที่อาจารย์ใหญ่มอบหมาย มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลและความสะดวกอื่น ๆ ที่โรงเรียนจัดให้แก่สมาคมได้และเป็นผู้ประสานงานระหว่างสมาคมกับโรงเรียน
๒๕.๑๒. กรรมการกลาง มีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมตามแต่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่แล้ว ให้คณะกรรมการชุดเก่ามอบงานให้คณะกรรมการชุดใหม่ ให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่

ข้อ ๒๖. คณะกรรมการอาจจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้อีกตามที่เห็นสมควรและกรรมการที่ปรึกษาจะอยู่ในตำแหน่ง จนหมดวาระของคณะกรรมการชุดนั้น

ข้อ ๒๗. โดยอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร กรรมการ เจ้าหน้าที่แต่ละตำแหน่งดังกล่าว ในข้อ ๒๕ อาจมีผู้ช่วย ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๒๘. คณะกรรมการบริหาร มีสิทธิที่จะแต่งตั้งสมาชิกเป็นอนุกรรมการเพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือกิจการด้านใดด้านหนึ่งของสมาคมได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๒๙. คณะกรรมการบริหาร มีอำนาจวางระเบียบสำหรับกิจการของสมาคม โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม

ข้อ ๓๐. ถ้าคณะกรรมการบริหารว่างลงก่อนครบวาระ คณะกรรมการบริหารอาจเชิญสมาชิกสามัญที่ได้คะแนนเลือกตั้งอันดับรองลงไป ขึ้นเป็นคณะกรรมการที่ว่างตามความจำเป็น กรรมการบริหารคนใหม่นี้ให้อยู่ในตำแหน่งได้ เท่ากับเวลาที่กรรมการคนเดิมจะพึงอยู่ได้

ข้อ ๓๑. ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อยภาคเรียนละ ๑ ครั้ง จะต้องมีกรรมการเข้าประชุม ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด โดยเป็นกรรมการที่เลือกจากผู้ปกครองนักเรียนไม่น้อยกว่า ๕ คน จึงจะเป็นองค์ประชุมได้

ถ้าไม่ครบองค์ประชุม ให้มีการนัดประชุมใหม่ ในการประชุมใหม่นี้ ถ้ากรรมการที่เลือกจากผู้ปกครอง มาประชุมไม่น้อยกว่า ๓ คน ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ให้นายกเป็นประธาน ถ้านายกไม่อยู่ ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าในกรณีที่ทั้งนายกและอุปนายกไม่ได้เข้าประชุม ก็ให้เลือกตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่ง เป็นประธานการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๓๒. การลงมติในคณะกรรมการบริหาร ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงชี้ขาดได้อีก ๑ เสียง

หมวดที่ ๕
การประชุมใหญ่

ข้อ ๓๓. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหนึ่งครั้งในเดือนมีนาคมโดยมีนายกหรืออุปนายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม ในกรณีนายกหรืออุปนายกไม่สามารถเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีได้ ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ข้อ ๓๔. ในการประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมอย่างน้อย ๑๐๐ คน จึงนับว่าเป็นองค์ประชุมได้ ถ้าในวันนัดเมื่อล่วงเวลานัดแล้วหนึ่งชั่วโมง มีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้ประกาศกำหนดนัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ห่างจากวันนัดประชุมครั้งแรกไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน และในวันนัดครั้งที่สองนี้ได้สมาชิกสามัญมาประชุมตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไป ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมได้

ข้อ ๓๕. มติของที่ประชุมใหญ่ให้ถือตามเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๓๖. ให้คณะกรรมการบริหาร ทำรายงานประจำปีรวมเรื่องกิจการงานที่ผ่านมาโดยประกอบพร้อมทั้งงบดุล เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ทั้งนี้ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า ๗ วัน

ข้อ ๓๗. ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญเลือกตั้งผู้สอบบัญชีของสมาคมขึ้น

ข้อ ๓๘. การประชุมใหญ่วิสามัญอาจมีขึ้นโดย
๓๘.๑. มติ ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการบริหาร หรือ
๓๘.๒. เมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ร้องขอโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ต้องมีสมาชิกสามัญประชุมไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ของสมาชิกทั้งหมด ถ้าวันนัดประชุมเมื่อเวลาได้ล่วงกำหนดแล้วหนึ่งชั่วโมง มีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมให้เลิกการประชุมนั้น โดยไม่ต้องให้มีการนัดการประชุมใหญ่อีก

ประธานในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ได้แก่ นายก หรือ อุปนายก และในกรณีที่นายกหรืออุปนายกไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกประธานจากคณะกรรมการของสมาคม

ข้อ ๓๙. ในการแก้ไขข้อบังคับ จะทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่และจะต้องมีเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่มาประชุม

ข้อ ๔๐. การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้โดย
๔๐.๑. กรรมการจำนวน ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการบริหารมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติม
๔๐.๒. สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ได้ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับต่อคณะกรรมการ ให้เลขานุการสมาคมประกาศร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยเปิดเผย ณ สำนักงานของสมาคม และแจ้งให้ทราบไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน ก่อนวันประชุมใหญ่

หมวดที่ ๖
การเงิน

ข้อ ๔๑. สมาคมอาจมีรายได้และทรัพย์สินจากที่มาเช่นดังต่อไปนี้
๔๑.๑. รายได้ตามข้อ ๗
๔๑.๒. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
๔๑.๓. จากกิจการหรือทรัพย์สินของสมาคม

ข้อ ๔๒. คณะกรรมการสมาคมมีหน้าที่รับและจ่ายเงิน เก็บรักษาเงิน รักษาสมุดบัญชี เอกสารและทรัพย์สินของสมาคม จัดทำสมุดทะเบียนขึ้นตามสมควร

ข้อ ๔๓. เงินทุนทุกประเภทของสมาคมให้ฝากไว้ในธนาคารหรือสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรในนามของสมาคม

ข้อ ๔๔. การสั่งจ่ายเงินของสมาคม ต้องให้นายกหรือผู้ที่นายกมอบหมาย คนใดคนหนึ่งลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ที่เหรัญญิกมอบหมาย การมอบหมายให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ ๔๕. อำนาจการสั่งจ่ายตามข้อ ๔๔ ให้เป็นไปตามระเบียบการเงินของสมาคม

หมวดที่ ๗
การเลิกสมาคม

ข้อ ๔๖. สมาคมนี้เลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ ๔๗. เมื่อเลิกสมาคมนี้แล้ว ให้ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ภายหลังจากการชำระบัญชีแล้วตกเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อบำรุงโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์